วันนี้( 19 ก.พ.)ที่กระทรวงศึกษาธิการ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ได้ชี้แจงโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งมีตัวแทนมหาวิทยาลัยรัฐทุกกลุ่มและมหาวิทยาลัยเอกชน เข้าร่วม 86 แห่ง โดยศ.นพ.อุดม กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะเพิ่มระดับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ที่ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยโดยตรง โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่สนองตอบต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาล ไ ด้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ , อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม,อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ , อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ,อุตสาหกรรมดิจิทัล , อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร แต่ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังดำเนินการวางยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ส่วนการแพทย์ของประเทศก็ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานสูง ดังนั้นโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะมุ่งเป้า 8 สาขา ยกเว้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลอยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเสนอหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนคือกลุ่มคนทำงาน โดยเพิ่มเติมสมรรถนะที่สำคัญต่างๆ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้ประกาศนียบัตร และกลุ่มนิสิตนักศึกษาปี 3 -4 เพื่อที่จะได้บุคลากรสนองตอบต่อภาคอุตสาหกรรมภายใน 2 ปี โดยเฉพาะงานด้านระบบราง และการบิน ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก ส่วนระยะต่อไปจะเป็นหลักสูตรปริญญาตรีที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ ที่มีลักษณะบูรณาการศาสตร์ต่างๆที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล และภาษาอังกฤษ ซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถเสนอหลักสูตรได้มากกว่า 1 หลักสูตร/สาขา/กลุ่มเป้าหมาย เพื่อ สกอ.จะได้พิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนก็เสนอได้ ถ้าครม.เห็นชอบ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงได้มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเสนอข้อห่วงใยเรื่องเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. อาทิ จำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรว่าจะใช้อาจารย์ต่างชาติเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้หรือไม่ ,หากเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีการบูรณาการศาสตร์ใหม่ อาจหาอาจารย์ที่จบจากสาขานั้นๆโดยตรงไม่ได้ สกอ.จะสามารถยืดหยุ่นหลักเกณฑ์ให้อาจารย์ที่จบสาขาที่ใกล้เคียงได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งทางสกอ. ชี้แจงว่า ให้มหาวิทยาลัยนำเสนอปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆ มาได้ เพื่อจะได้นำขอยกเว้นจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา( กกอ. )เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/education/628259